วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2556


ชื่อไทย รางจืด
ชื่ออื่น กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว คาย รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง ย่ำแย้ แอดแอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia Lindl.
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะวิสัย ไม้เถาเนื้อแข็ง
ลักษณะใบ ใบเดี่ยวรูปขอบขนานหรือรูปไข่
ลักษณะดอก ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง
ลักษณะผล ผลแห้ง แตกได้

สรรพคุณ • รากและเถา - รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ น้ำคั้นใบสด แก้ไข้
• ใบและราก - ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น ติดอยู่ในฝักผลไม้ที่รับประทาน เมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกล การนำส่งแพทย์ต้องใช้เวลา อาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่ในบ้าน ใช้ใบรางจืดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปนัก หรือรากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และมีขนาดเท่านิ้วชี้ มาใช้เป็นยาบรรเทาพิษเฉพาะหน้าก่อนนำส่งโรงพยาบาล (รากรางจืดจะมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) ดินที่ใช้ปลูก ถ้าผสมขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น จะช่วยให้ต้นรางจืดมีตัวยามากขึ้น

วิธีใช้ :
• ใบสด
สำหรับคน 10-12 ใบ
สำหรับวัวควาย 20-30 ใบ
นำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมงต่อมา
• รากสด
สำหรับคน 1-2 องคุลี
สำหรับวัวควาย 2-4 องคุลี
นำรากมาฝนหรือตำกับน้ำซาวข้าว แล้วดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจใช้ซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมง ต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น