หม่อน
หม่อน หรือ มัลเบอร์รี (อังกฤษ: mulberry) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba อยู่ในวงศ์ Moraceae เป็นพืชอาหารตามธรรมชาติชนิดเดียวของหนอนไหม และเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปริมาณผลผลิตและคุณภาพรังไหมจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับคุณภาพใบหม่อน หม่อนเป็นพืชที่มีอายุนาน 80-100 ปี ถ้าไม่ได้รับความกระทบกระเทือน จากการเก็บเกี่ยวหรือโรค แมลงศัตรู สามารถเจริญได้ดีตั้งแต่เขตอบอุ่นถึงเขตร้อน หม่อนที่เกิดในเขตอากาศหนาว จะหยุดพักไม่เจริญเติบโต นับตั้งแต่ปลายฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ผลหม่อนสามารถรับประทานได้
จากการรายงานการศึกษาวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า ใบหม่อนมีคุณสมบัติในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงมีการผลิตชาจากใบหม่อนเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไม่แพ้ชาชนิดอื่น เพราะรสชาติและคุณสมบัติที่ดีของหม่อนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งดื่มได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับชาชนิดอื่นๆ
เนื่องจากหม่อนเป็นพืชปราศจากสารพิษ มีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาหลายชนิด โดยใบ มีรสเย็นจืด ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้เจ็บคอ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไอ ระงับประสาทโดยสรรพคุณของใบหม่อนจะช่วยป้องกันรักษา โรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด ช่วยขจัดไขมันส่วนเกินในร่างกายได้ดี ช่วยลดคลอเลสเตอรอล และความดันโลหิตสูง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งฟันผุ ต้านเชื้อมัยโคแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา ดึงดูดแมลง กระตุ้นการวางไข่ของแมลง มีฤทธิ์เหมือน pheromone และ juvenile ของแมลง รบกวนการกินอาหารของแมลง กระตุ้นการเหนี่ยวนำ interferon ต้านมะเร็ง เร่งการกำจัดแอมโมเนียภายในร่างกาย และลดการดูดซึมแอลกอฮอล์ในทางเดินอาหาร ระบายท้อง กระตุ้นการงอกของเส้นผม จับกับอนุมูลอิสระ แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อเรียบ กระตุ้นมดลูกให้บีบตัว ลดความดันโลหิต มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจนและ growth hormone ยับยั้งเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ขับปัสสาวะ ลดการอักเสบ แก้ไอ กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และเป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลาช้านาน
ลักษณะของต้นหม่อน
หม่อนเป็นพืชยืนต้นประเภทไม้พุ่ม เนื้ออ่อน เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน และเขตอบอุ่น ปลายใบแหลม ขอบใบอาจหยักเว้ามากคล้ายใบมะละกอ หรือหยักน้อยคล้ายใบโพธิ์ บางชนิดมีขนเล็กใต้ใบ ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวลำต้นเรียบ ไม่มีหนาม มียางสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม บางพันธุ์ติดผลดกและโต รับประ-ทานได้คล้ายผลสตรอว์เบอร์รี ซึ่งพันธุ์ที่กล่าวนี้ มักไม่นิยมใช้ใบเลี้ยงไหม เพราะใบแข็งกระด้าง ไหมไม่ชอบกิน ต้นหม่อนที่ได้รับการบำรุงรักษาโดยถูกต้องอาจมีอายุยืนให้ปริมาณใบมากถึง ๒๕ ปี ในสมัยโบราณหม่อนเป็นพืชที่ขึ้นได้เองตามธรรม-ชาติ แต่เมื่อเลี้ยงไหมกันมากขึ้นต้องนำมาปลูกเพื่อให้ได้ใบมากพอแก่ความต้องการ
การใช้ประโยชน์จากหม่อน
ใบหม่อน
ใช้แก้โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ขับร้อนจากปอด อาการไอแห้ง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ตาอักเสบ ตามัว ในขนาด 4.5 – 9 กรัม น้ำคั้นและสารสกัดจากใบมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และมีสารสำคัญที่ยับยั้ง oxidation ของ LDL ได้ ใบหม่อนมีสาร flonoid phytoestrogen , triterpene ,ceramide , mulberroside และ น้ำมันหอมระเหย โดย มีการศึกษาพบสาร flavonol glycosides 3 ชนิด คือ quercetin 3-(6-malonyglucoside ) , rutin (quercetin 3- rutinoside ) และ isoquercetin ( quercetin 3- glucoside ) เป็นองค์ประกอบหลักของสาร LDL antioxidant โดยพบ quertin 3-(6-malonyglucoside ) และ rutin เป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงในใบหม่อน (Katsube et al, 2005) และใบหม่อนสามารถนำไปทำเป็นชาสำหรับชงน้ำร้อนดื่มโดยจะทำในรูปชาเขียว ชาจีน และชาฝรั่ง หรือ รับประทานใบและยอดอ่อนโดยตรงโดยการใส่ในต้ม หรือแกงก็ได้ ใบหม่อนมีโปรตีน 18-28.8 % น้ำหนักแห้ง สามารถใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์บางชนิดได้เช่นในในการเป็นอาหารปลากินพืช ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องบางชนิด (FAO,2000)ใบยัง ใช้เป็นอาหารของหนอนไหม และหนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะนำโปรตีนในใบหม่อนไปสร้างเป็นโปรตีนผลิตเป็นเส้นไหม ซึ่งเส้นไหม จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตผ้าไหมที่มีความสวยงาม
ผล
ผลหม่อน มีสรรพคุณบำรุงไต ทำให้ชุ่มคอ ดับร้อน ช่วยให้นอนหลับ ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ ใช้แก้อาการเวียนศีรษะ หูอื้อ ใจสั่น นอนไม่หลับ ผมหงอกก่อนวัย เบาหวาน ท้องผูก และใช้แก้โรคครูห์มาติค ในขนาด 9-15 กรัม ผลหม่อน หรือ มัลเบอร์รี่ ซึ่งพบว่า ผลหม่อนมีกรดโฟลิกสูงกว่าบลูเบอร์รี่ถึง 1-2 เท่า และยังมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญเต็มที่เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติ กระแสเลือดหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรง รวมถึงลดอาการแพ้ต่าง ๆ และช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาวอีกด้วย จากการทำวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ผลหม่อนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ผลหม่อน มีการพบว่ามีanthocyanins สูง ในผลหม่อนแห้ง มี ไขมัน 63 % กรดอินทรีย์ 27 % แอลกอฮอล์ 1.6 % และพบว่า สารcyanidin – 3-O-?-D-glucopyranoside (C3G ) ที่สกัดจากanthocyanin ในผลหม่อนสามารถต่อต้านอาการขาดเลือดในสมองได้ (Kang et al , 2005 ) ผลหม่อนสามารถรับประทานสด นำไปแปรรูปเป็นน้ำผลหม่อนเข็มข้นหรือพร้อมดื่ม และเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารต่าง เช่นไอศกรีม แยม แยลลี่ ข้าวเกรียบ ขนมพายลูกหม่อน รวมทั้งการผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไวน์
เปลือกราก
ใช้สำหรับอาการไอ หืด ในขนาด 6-12 กรัม สารสำคัญจากเปลือกรากหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อเอชไอวี ฤทธิ์ต้านเชื้อรา และต้านเชื้อไวรัสที่ก่อโรคเริมที่อวัยวะเพศ ส่วนการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบฤทธิ์แก้ไอ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม และฤทธิ์สงบประสาท
ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน (melanin) สาร 2-oxyresveratrol จากกิ่งหม่อน และสาร mulberroside F จากใบและสารสกัดจากเปลือกราก มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งเกี่ยวข้องในขบวนการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง จึงมีการนำสารสกัดรากหม่อนมาใช้เป็น whitening agent ในเครื่องสำอาง
ลำต้นและกิ่ง
สามารถใช้เป็นไม้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางกีฬาบางชนิดได้ และเยื่อจากเปลือกลำต้นและกิ่งสามารถ นำมาทำเป็นกระดาษได้สวยงามเช่นเดียวกับกระดาษสา
กิ่งหม่อน ใช้รักษาโรคปวดข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณบ่าและแขน ในขนาด 9-15 กรัม
การเตรียมกิ่งปลูก
ปลูกโดยการปักชำหรือเมล็ด ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิดและทุกสภาพอากาศ ทนต่อโรคและความเย็นได้ดี แต่จะถูกทำลายโดยลมแรงก่อนปลูกควรเตรียมดินโดยการไถพรวน และตากดินให้หญ้าตายสัก ๒-๓ วันเป็นอย่างน้อย ควรเลือกกิ่งที่แข็งแรง ไม่มีโรคและแมลง ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เพื่อให้กิ่งมีอาหารสะสมไว้เพียงพอที่รากจะงอกได้ กิ่งหม่อนควรเป็นกิ่งหม่อนที่มีอายุ ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี ตัดท่อนพันธุ์ยาวท่อนละประมาณ 20-30 เซนติเมตร หรือมีตาหม่อนอยู่บนท่อนพันธุ์ 4-5 ตา ควรตัดส่วนบนของท่อนพันธุ์ให้มีลักษณะตรงและเหนือตาบนสุดประมาณ 1 ซม. ส่วนโคนให้ตัดเฉียงประมาณ 45 องศาเป็นรูปปากฉลาม โดยตัดต่ำกว่าข้อตาล่างสุดประมาณ 1.5 ซม. และให้ด้านเฉียงอยู่ตรงข้ามกับตาล่างสุด ปักชำในถุงเพาะชำ ให้กิ่งมีอายุ 2-3 เดือน แล้วจึงนำปลูกในแปลง หม่อนจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงต้น ๆ และเมื่ออายุประมาณ 10 ปี อัตราการเจริญเติบโตจะลดลง พันธุ์หม่อนที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ คือ พันธุ์บุรีรัมย์ 60 (บว.60) และพันธุ์นครราชสีมา 60 (นม.60)
วิธีปลูก
ควรเตรียมดินให้ร่วนโปร่ง ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 ให้น้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่ต้องมาก เนื่องจากหม่อนเป็นพืชทนแล้ง หม่อนไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง แต่จะมีแมลงศัตรูที่สำคัญของหม่อน ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว ไรแดง เพลี้ยจั๊กจั่น เป็นต้น กำจัดโดยการตัดแต่งกิ่งและใบไปเผาทำลาย ไม่ควรใช้สารเคมี เพราะจะมีผลกระทบต่อไหม เมื่อนำใบหม่อนมาเลี้ยง ชำไว้ในทราย แกลบเผาหรือขี้เลื้อยล่วงหน้าสัก ๑ เดือน ปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้เอนประมาณ ๖๐ องศา เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งแห้งตาย ควรปลูก ๒ กิ่ง ให้ไขว้กันเป็นรูปกากบาทโดยฝังกิ่งให้ลึกลงไปในดินประมาณ ๒ ใน ๓ ของความยาวกิ่งให้มีตาโผล่อยู่บนดิน ๒ - ๓ ตา เมื่อต้นโตดีแล้วประมาณ ๓ - ๖เดือนควรตัดออกให้เหลือต้นเดียว
ฤดูปลูก
ในเมืองไทยเราสามารถปลูกหม่อนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่ช่วงที่เหมาะที่สุดคือ ต้นฤดูฝน เพราะฝนจะช่วยให้หม่อนได้รับความชุ่มชื้นสูง ทำให้หม่อนตั้งตัวได้เร็วถ้าปลูกปลายฤดูฝน ควรกะให้มีฝนอยู่ระยะหนึ่ง พอที่หม่อนจะตั้งตัว แตกรากกิ่งก้านได้พอสมควร ไม่ควรปลูกหม่อนในหน้าแล้งโดยเด็ดขาด แม้ว่าบางท้องที่อาจทำได้เพราะมีการชลประ-ทาน แต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าปลูกในฤดูฝน
หลักสำคัญๆ ในการเลือกพื้นที่ปลูกหม่อน
1. เป็นที่ราบ และสูง น้ำไม่ท่วมขัง
2. มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสม่ำเสมอ และเป็นดินร่วนปนทราย
3. ไม่ควรจะปลูกแปลงยาสูบ หรือสวนผัก สวนผลไม้ ที่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชเป็นประจำ
4. ไม่ควรอยู่ห่างไกลโรงเลี้ยงไหมจนเกินไป
5. ไม่ควรอยู่ใกล้ทางสัญจร จะทำให้ใบหม่อนสกปรก
วิธีการเก็บยอดใบหม่อนเพื่อที่จะนำมาสกัดเป็นชา จะใช้เพียง 3 ยอดบนสุดเท่านั้น และจะเก็บในช่วงเช้า ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (วิธีการเก็บจะเหมือนกับการเก็บยอดชาทั่วไป) หลังจากนั้นนำมาตากแดดให้แห้ง หรือผ่านกระบวนการอบฆ่าเชื้อ
การทำชาใบหม่อน
1. เด็ดส่วนใบของหม่อน นำมาล้างน้ำให้สะอาด หลังจากนั้นนำมาซอยให้เป็นชิ้นเล็กๆ
2. นำขึ้นใส่ตะแกรงตากแดดประมาณ 2-3 แดด จนแห้ง หรือจะใช้วีธีนำเข้าเตาอบ ผ่านความร้อนก็ได้เช่นกัน
3. เก็บบรรจุใส่ภาชนะที่มิดชิด และเก็บไว้ในที่แห้งไม่อับชื้น
4. หากต้องการความหอมอีกรสชาติหนึ่ง ให้นำชาที่แห้งแล้ว ไปคั่วไฟอ่อนๆ ก่อนนำมาชงก็ได้ พื่อเพิ่มกลิ่นและรสของชาใบหม่อน
วิธีการชง
การชงชาใบหม่อนเพื่อให้คุณประโยชน์ที่ดีนั้น ควรที่จะนำใบแห้งมาบดให้ละเอียด ใส่ในซองเยื่อกระดาษสำหรับชงชา สำหรับชาใบหม่อนจำนวน 2 กรัม ควรใช้กับน้ำปริมาณ 3 แก้ว แล้วควรทานให้หมดภายในวันเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น