วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556



3. รู้จักยารักษาโรค   
หมอจะต้องรู้สรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งจะได้เอามาปรุงเป็นยาแก้ไขโรค การที่จะรู้จักยานั้น ต้องรู้จัก 4 ประการ คือ รู้จักตัวยา รู้จักสรรพคุณยา รู้จักเครื่องยา ทีมีชื่อต่างกัน รวมเรียกเป็นชื่อเดียว ( พิกัดยา) รู้จักการปรุงยา ที่ประสมใช้ตามวิธีต่างๆ

3.1
 รู้จักตัวยาด้วยลักษณะ 5 ประการ คือ รู้จักรูป รู้จักสี รู้จักกลิ่น รู้จักรส และสรรพคุณ และรู้จักชื่อ ในเภสัชวัตถุ 3 จำพวก คือ พืชวัตถุ ( พรรณไม้ พรรณหญ้า เครือเถา ) สัตว์วัตถุ ( เครื่องอวัยวะของสัตว์) ธาตุวัตถุ ( แร่ธาตุต่างๆ)
       3.1.1
 พรรณไม้ให้รู้จักว่า ไม้อย่างนี้ ดอก เกสร ผล เมล็ด กระพี้ ยาง แก่น ราก มีรูปอย่างนั้น มีกลิ่นอย่างนั้น มีสีอย่างนั้น มีรสอย่างนั้น ชื่อว่าอย่างนั่น พรรณหญ้าและเครือเถาก็ให้รู้ อย่างเดียวกัน
       3.1.2
 ส่วนเครื่องอวัยวะของสัตว์ ก็ให้รู้ว่า เป็น ขน หนัง เขา นอ งา เขี้ยว ฟัน กราม กีบ กระดูก ดี มีลักษณะ รูป สี กลิ่น รส ชื่อ อย่างนั้นๆ เป็นกระดูกสัตว์อย่างนี้ ๆ เป็นเขาสัตว์อย่างนั้นๆ เป็นต้น
       3.1.3
 ส่วนแร่ธาตุต่างๆ ก็ให้รู้จักลักษณะ รูป สี กลิ่น รส และชื่อ เช่น การบูร ดินประสิว กำมะถัน จุนสี เหล่านี้ ต่างก็มีรูป รส กลิ่น เป็นอย่างหนึ่งๆ

การที่จะรู้จักตัวยาว่า สิ่งอันใดมีชื่อ รูป สี กลิ่น รส อย่างไรนั้น ต้องรู้จักด้วยการดุของจริง ที่มีอยู่เป็นตัวอย่างในโรงเรียนก็ดี ต้นไม้ซึ่งมีอยู่ในส่วนยา หรือที่อื่นๆ ซึ่งเป็นของสดก็ดี จะต้องเรียนให้รู้ของจริง ทั้งแห้ง ทั้งสด และจดจำไว้ให้มีความรู้ความชำนาญ เป็นต้นว่า พรรณไม้อย่างหนึ่ง ในประเทศนี้ เรียกชื่อว่าอย่างนี้ ครั้นพบในประเทศอื่น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง เช่นนี้ เป็นหนทางที่ผู้ศึกษา จะต้องค้นคว้า หาความรู้ความชำนาญ ให้ตนเอง จึงจะมีความรู้ยิ่งขึ้นไ







3.2 รู้จักสรรพคุณยา ท่านกล่าวเอารสยา 3 รสขึ้นตั้งเป็นประธาน ( ยารสประธาน) ยังมีทาง จำแนก ตามรส เป็น 9 รส และจัดตามธาตุทั้ง 4 ที่เกิดธาตุพิการ ขึ้นดังนี้

          3.2.1 รสประธาน 3 รส
                         1. ยารสร้อน ได้แก่ยาที่เข้าเบญจกูล ตรีกฎุก เช่นหัสคุณ ขิง ข่า ปรุงเป็นยา เช่นยาเหลืองทั้งปวงสำหรับแก้ทางวาโยธาตุ เป็นต้น
           2. ยารสเย็น ได้แก่ยาที่เข้าใบไม้ (ที่ไม่ร้อน) เกสรดอกไม้ สัตตเขา เนาวเขี้ยว และของที่เผาเป็นถ่านแล้วปรุงยา เช่นยา มหานิล ยามหากาฬ สำหรับแก้ทางเตโชธาตุ เป็นต้น
           
3.
 ยารสสุขุ ได้แก่ยาที่เข้าโกฎเทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด อบเชย ขอนดอก แก่นจันทร์เทศ เป็นต้น ปรุงเป็นยา เช่นยาหอมทั้งปวง สำหรับแก้ทางโลหิต เป็นต้น



        3.2.2
 รสยา 9 รส
                1. รสฝาด สำหรับสมาน
                2. รสหวาน สำหรับซึมซาบไปตามเนื้อ
             3. รสเมาเบื่อ แก้พิษ
             4. รสขม แก้ทางโลหิตและดี
             5. รสเผ็ดร้อน แก้ลม
             6. รสมัน แก้เส้นเอ็น
             7. รสหอมเย็น ทำให้ชื่นใจ
             8. รสเค็ม ซาบไปตามผิวหนัง
             9. รสเปรี้ยว แก้เสมหะ
ตามตำราเป็น 9 รส ฉะนี้ แต่ควรเติมรสจืด อีกรสหนึ่ง สำหรับแก้ทางเตโชด้วย

3.2.3 ธาตุทั้ง4 พิการ คือว่าธาตุใดพิการ ใช้ยารสใด แก้ถูกโรค ดังนี้ คือ
              1. โรคที่เกิดขึ้นเพื่อปถวีพิการ ชอบยา รสฝาด รสเค็ม รสหวาน รสมัน
              2. โรคที่เกิดขึ้นเพื่ออาโปธาตุพิการ ชอบยา รสขม รสเปรี้ยว รสเมาเบื่อ
              3. โรคที่เกิดขึ้นเพื่อเตโชธาตุพิการ ชอบยา รสจืด รสเย็น
              4. โรคที่เกิดขึ้นเพื่อวาโยธาตุพิการ ชอบยา รสสุขุม รสเผ็ดร้อน

การที่จะสอนสรรพคุณยาทั้งปวงเหล่านี้ ให้พิสดารละเอียด ไปนั้นเป็นการยาก จึงนำมา กล่าวไว้พอเป็นที่สังเกต ผู้ศึกษาจะต้องเรียน จากคัมภีร์ใหญ่ เช่น คัมภีร์สรรพคุณ เป็นต้น จึงจะได้ความรุ้กกว้างขวางต่อไป


3.3
 รู้จักเครื่องยาที่มีชื่อต่างกนรวมเรียกเป็นชื่อเดียว ยาเหล่านี้ ท่านจัดไว้เป็นหมวดๆ ตามพิกัด จะนำมากล่าวไว้พอเป็นตัวอย่างดังนี้

3.3.1 หมวดของ 2 สิ่ง 
1. ทเวคันธา คือรากบุนนาค รากมะทราง
2. ทเวตรีคันธา  ของ 2 สิ่งๆละ 3 ดอกบุนนาค แก่นบุนนาค รากบุนนาค ดอกมะทรางแก่น
                                     มะทราง รากมะทราง

3.3.2 หมวดของ 3 สิ่ง
   1. ตรีสุคนธ์ คือ รากอบเชยเทศ รากอบเชยไทย รากพิมเสนต้น
  2. ตรีผลา คือ ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก ผลมะขามป้อม
  3. ตรีกฎุก คือ เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี เหง้าขิงแห้ง
  4. ตรีสาร คือ รากช้าพลู รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน
  5. ตรีธารทิพย์ คือ รากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ รากมะขามเทศ
  6. ตรีสุรผล คือ เปลือกสมุลแว้ง เนื้อไม้( กฤษณา) แก่นเทพทาโร
  7. ตรีผลธาตุ คือ รากกะทือ รากไพล รากตะไคร้หอม
  8. ตรีสันนิบาตผล คือ ดีปลี รากกะเพรา รากพริกไทย
  9. ตรีคันธวาต คือ ผลเร็วใหญ่ ผลจันทน์ ดอกกานพลู
10. ตรีกาฬพิษ คือ รากกระชาย รากข่า รากกะเพรา
11. ตรีทิพยรส คือ โกฎกระดูก กระลำพัก ขอนดอก
12. ตรีญาณรส คือ ไส้หมาก รากสะเดา เถาบอระเพ็ด
13. ตรีเพชรสมคุณ คือ ว่านหางจระเข้ ฝักราชพฤกษ์ รงทอง
14. ตรีฉินทลากา คือ โกฎน้ำเต้า สมออัพพยา รงทอง
15. ตรีเกสรมาศ คือ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง ผลมะตูมอ่อน
16. ตรีอมฤต คือ รากมะกอก รากกล้วยตีบ รากกระดอม
17. ตรีสัตกุลา คือ เทียนดำ ผลผักชีลา เหง้าขิงสด
18. ตรีทุรวสา คือ เมล็ดโหระพาเทศ ผลกระวาน ผลราชดัด
19. ตรีเสมหผล คือ ผลช้าพลู รากดีปลี รากมะกล่ำเครือ
20. ตรีปิตตะผล คือ เจตมูลเพลิง รากกะเพรา ผักแพวแดง
21. ตรีวาตผล คือ ผลสะค้าน รากข่า รากพริกไทย

หมายเหตุ พวกยาตรีพิกัด คือ พิกัดยาหมวดของ 3 สิ่ง นี้ ผู้พิมพ์ตรวจพบว่า ในหนังสือ เวชศึกษา กับในพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน มีตัวยาต่างกันอยู่ 2 พิกัด คือ พิกัด ตรีทิพยรส กับ พิกัด ตรีสุคนธ์ จึงไดัคัดเอาพวกตรีพิกัด จากพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน มาพิมพ์ ไว้ให้ท่านผู้รู้ และนักศึกษาพิจารณาดังต่อไปนี้ คือ

  1. ตรีกฎุก ของเผ็ดร้อน สามชนิด คือ พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง
  2. ตรีกาฬพิษ พิษกาฬสามอย่าง คือ กระชาย รากข่า รากกะเพรา
  3. ตรีเกสรมาศ เกสรทองสามอย่าง คือ ผลมะตูมอ่อน เปลือกฝิ่น ต้นเกสรบัวหลวง
  4. ตรีคันธะวาต กลิ่นแก้ลม สามอย่าง คือ ผลเร่วใหญ่ ผลจันน์เทศ กานพลู
  5. ตรีฉินทะลามะกา ของแก้ลามกสามอย่างคือ โกฎน้ำเต้า สมอไทย รงทอง
  6. ตรีชาติ (วัตถุสาม) คือ ดอกจันทน์ กระวาน อบเชย
  7. ตรีญาณรส รสสำหรับผู้รู้สามอย่าง คือ ไส้หมาก รากสะเดา เถาบอระเพ็ด
  8. ตรีทิพยรส รสทิพย์สามอย่าง คือ โกฎกระดูก เนื้อไม้ อบเชยไทย
  9. ตรีทุราวะสา ของแก้มันเหลวเสียสามอย่าง คือ เมล็ดโหระพา ผลกระวาน ผลราชดัด
10. ตรีทเวตรีคันธา กลิ่นสามสองสาม (ศัพท์คัมภีร์แพทย์) คือ แก่น ดอก ราก แห่งมะซาง และบุนนาค ( บางแห่งเขียน ทเวติคันธา,ทเวตรีคันธา ก็มี )
11. ตรีธารทิพย์ ของทิพย์ที่ทนสามอย่าง คือ รากไทรย้อย รากราชพฤกษ์ รากมะขามเทศ
12. ตรีปิตตะผล ผลแก้ดีสามอย่าง คือ เจตมูลเพลิง ผักแพวแดง รากกระเพรา
13. ตรีผลธาตุ ผลแก้ธาตุสามอย่างคือ กระทือ ไพล รากตะไคร้
14. ตรีผลสมุฎฐาน ที่เกิดแห่งผลสามอย่างคือ ผลมะตูม ผลยอ ผลผักชีลา
15. ตรีผลา ชื่อผลไม้สามอย่างประกอบขึ้นใข้ในตำรา คือสมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม
16. ตรีพิษจักร จักรพิษสามอย่าง คือ กานพลุ ผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ
17. ตรีเพชรสมคุณ คุณเสมอด้วยเพชรสามอย่าง คือ ว่านหางจรเข้ ฝักราชพฤกษ์ รงทอง
18. ตรีมธุรส ของมีรสดีสามอย่าง คือ ผลสะค้านรากพริกไทย ข่า
19. ตรีวาตผล ผลแก้ลมสามอย่าง คือ ผลสะค้าน รากพริกไทย ข่า
20.
 ตรีสมอ สมอสามอย่างคือ สมอไทย สมอพิเภก สมอเทศ
21. ตรีสัตกุลา ตระกูลอันสามารถสามอย่าง คือ ผลดีปลี รากกระเพรา รากพริกไทย
22. ตรีสันนิบาตผล ผลแก้สันนิบาตสามอย่าง คือ เทียนดำ ผักชีลา ขิงสด
23. ตรีสาร แก่นสามอย่าง คือ แสมสาร แสมทะเล ขี้เหล็ก หรืออีกอย่างหนึ่งแปลว่า 
             รสสามอย่างเป็น คำแพทย์ใช้ในตำรายา คือ เจตมูลเพลิง สะค้าน ช้าพลู
24. ตรีสินธุรส รสน้ำสามอย่าง คือ รากมะตูม เทียนขาว น้ำตาลกรวด
25.
 ตรีสุคนธ์ กลิ่นหอมสามอย่าง คือ ใบกระวาน อบเชยเทศ รากพิมเสน
26. ตรีสุรผล ยามีรสกล้าสามอย่างคือ สมุลแว้ง เนื้อไม้ เทพทาโร
27. ตรีเสมหะผล ผลแก้เสมหะสามอย่างคือ ผลช้าพลู รากดีปลี รากมะกล่ำ
28. ตรีอัมฤต ของไม่ตายสามอย่างคือ รากกล้วยตีบ รากกระดอม มะกอก
29. ตรีอากาศผล ผลแก้อากาศธาตุสามอย่างคือ ขิง กระลำพัก อบเชยเทศ
             ที่คัดจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีเพียงเท่านี้

3.3.3
 หมวดของ 4 สิ่ง
1) จตุกาลธาตุ คือว่านน้ำ รากเจตมูลเพลิง รากแคแตร รากนมสวรรค์
2) จตุทิพคันธา คือ รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ ดอกพิกุล ขิงแครง
3) จตุผลาธิกะ คือ ผลสมอไทย ผลสมอพิเภก ผลมะขามป้อม ผลสมอเทศ
4) จตุวาตุผล คือ รากขิง กระลำพัก อบเชยเทศ โกฎหัวบัว

3.3.4 หมวดของ 5 สิ่ง
1) เบญจกูล คือ รากช้าพลู เถาสะค้าน ดีปลี เหง้าขิง รากเจตมูลเพลิง
2) เบญจผลธาตุ คือ รากกกลังกา แห้วหมู หัวหญ้าชันกาด หัวเปราะ หัวเต่าเกียด
3) เบญจมูลน้อย คือ หญ้าเกล็ดหอยทั้งสอง รากละหุ่งแดง รากมะเขือขื่น รากมะอึก
4) เบญจมูบใหญ่ คือ รากมะตูม รากลำใย รากเพกา รากแครแตร รากคัดลิ้น
5) ทศมูลใหญ่ คือ เอาเบญจมูลน้อย เบญจมูลใหญ่ รวมกันเข้า
6) เบญจโลกวิเชียร คือ รากมะเดื่ออุทุมพร รากคนทา รากท้าวยายม่อม รากย่านาง รากชิงชี่
7) เบญจโลธิกะ คือ จันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์ชะมด เนระพุสี มหาสดำ

3.3.5 หมวดของ 7 สิ่ง
1) สัตตเขา  คือ เขาควาย เขาเลียงผา เขากวาง เขาวัว เขากระทิง เขาแพะ เขาแกะ
2) ปรเมหะ  คือ ต้นก้นปิด ตำแยทั้ง 2 ผลกระวาน โกฎกระดูก ผลรักเทศ ตรียลาวะสัง

3.3.6 หมวดของ 9 สิ่ง
                       เนาวเขี้ยว คือ      1) เขี้ยวสุกร                 2) เขี้ยวหมี                3) เขี้ยวเสือ                                               
                                  4) เขี้ยวแรด                 5) เขี้ยวช้าง ( งา)         6 ) เขี้ยวสุนัขป่า                              
                                  7) เขี้ยวปลาพะยูน         8) เขี้ยวจระเข้           9) เขี้ยวเลียงผา

3.3.7 หมวดของ 10 สิ่ง
                            ทศกุลาผล คือ       1) ผลเร่วทั้ง  2 (คือเร่วน้อยเร่วใหญ๋) 
                                      2)ผลผักชีทั้ง 2 ( ผักชีลา ผักชีล้อม) 
                                      3) ชะเอมเทศทั้ง 2 (ชะเอมเทศ ชะเอมไทย)                                                                       
                                      4) อำพันทั้ง 2 (อำพันทอง อำพันขี้ปลา)                                                    
                                      5) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยเทศ อบเชยไทย)


การเรียกชื่อตามพิกัด
นอกจากการจัดหมวดตามพิกัดที่กล่าวไว้ในข้อ 3.3.1-3.3.7 ข้างต้นแล้ว ยังมีการเรียกชื่อยาตามพิกัด ดังนี้
  1. เบญจโลหะ คือ รากทองกวาว รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากทองพันชั่ง รากทองโหลง
  2. สัตตโลหะ ใช้จำนวนตัวยา 5 อย่างของเบญจโลหะ แล้วเพิ่มอีก 2 คือ รากฟักทอง รากต้นใบทอง
  3. เนาวโลหะ ใช้จำนวนตัวยา 7 อย่างของสัตตะโลหะ แล้วเพิ่มอีก 2 คือ รากต้นทองเครือ รากจำปาทอง
  4. เบญจโกฐ คือ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา
  5. สัตตโกฐ คือจำนวนตัวยา 5 อย่าง ของเบญจโกฐเพิ่มอีก 2 คือ โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว
  6. นาวโกฐ ให้ใช้จำนวนตัวยา 7 อย่างของสัตตโกฐแล้วเพื่มอีก 2 คือ โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี
  7. โกฐพิเศษ คือ โกฐกะกลิ้ง โกฐกักกรา โกฐน้ำเต้า
  8. เทียนทั้ง 5 คือ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน
  9. เทียนทั้ง 7 ใช้จำนวนตัวยา 5 อย่างของเทียนทั้ง 5 แล้วเพิ่มอีก 2 คือ เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์
10. เทียนทั้ง 9 ใช้จำนวนตัวยา 7 อย่างของเทียนทั้ง 7 แล้วเพิ่ม อีก 2 คือ เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย
11. เทียนพิเศษ  คือ เทียนหลอด เทียนขม เทียนแกลบ
12. บัวน้ำทั้ง 5 คือ สัตตบุษย์ สัตตบรรณ ลินจง จงกลนี นิลุบล
13. บัวพิเศษ (เฉพาะ 6 อย่าง) คือ บัวหลวงทั้ง 2 (ขาวแดง) สัตตบงกชทั้ง 2 (ขาว แดง) บัวเผื่อน บัวขม
14. โหราทั้ง 5 คือ โหราอมฤต โหรามิกสิงคลี โหราเท้าสุนัข โหราบอน โหราเดือยไก่
15. โหราพิเศษ( เฉพาะ 6 อย่าง) คือ โหราผักกูด โหราข้าวเหนียว โหราเขาเนื้อ โหราเขากระบือ โหราใบกลม 
               โหรามหุรา ( โหรามังหุรา)
16. เกลือทั้ง 5 คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือวิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทร
17. เกลือพิเศษ ( เฉพาะ 7 อย่าง) คือ เกลือสุญจระ เกลือยาวกาสา เกลือวิทู เกลือด่างคลี เกลือกะตังมูตร 
               เกลือสมุทร เกลือสุวสา
                          ชื่อเครื่องยาทั้งปวง ซึ่งรวมกันเป็นพวก ๆ เช่นนี้ ใช่ว่าต้องใช้ทั้งหมดทุกครั้ง ให้ยึดถือตามตำรา 
ซึ่งจะบอกไว้ว่าอะไรที่ไม่ใช้ตามพิกัดก็มี ที่วางพิกัดไว้นี้ประสงค์จะเรียกชื่อให้สั้น ไม่ต้องจาระนัยให้เปลืองเวลา 
ในยามที่จะต้องใช้ของมีชื่อข้างต้น สิ่งเดียวรวมกันหลาย ๆ อย่างเท่านั้น ชื่อและพิกัดเครื่องยานี้ ผู้ที่ศึกษา วิชาแพทย์จำเป็นจะต้องเรียนรุ้และจำให้ได้ มิฉะนั้นถ้าพบตำราบอกให้ใช้อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นค้น ตรีกฎุก เบญจโลหะ ก็จะไม่รู้ว่าอะไรบ้าง พิกัดเครื่องยาเหล่านี้มีมากมายนัก ให้ดูในคัมภีร์สรรพคุณและสมุฎฐาน วินิจฉัย นั้นต่อไปเถิด

3.4  รู้จักปรุงยา ที่ประสมใช้ตามวิธีต่างๆ นั้น หลายวิธี ท่านได้แสดงไว้ดังต่อไปนี้
3.4.1 ยำตำเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นลูกกลอน กลืนกิน
3.4.2 ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียด ละลายน้ำกิน
3.4.3 ยาสับเป็นท่อนเป็นชิ้น บรรจุลงในหม้อเติมน้ำ ต้มรินแต่น้ำกิน
3.4.4 ยาดอง แช่ด้วยน้ำท่าหรือน้ำสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน
3.4.5 ยากัดด้วยเหล้า แอลกอฮอล์ และหยดลงในน้ำเติมน้ำกิน
3.4.6 ยาเผาให้เป็นถ่าน เอาด่างแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำกิน
3.4.7 ยาเผาหรือคั่วไหม้ ตำเป็นผงบดให้ละเอียด ละลายน้ำกระสายต่างๆกิน
3.4.8 ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เช่นกลั่นสุรา เอาน้ำเหงื่อกิน
3.4.9 ยาประสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลัก แล้วเอาไว้ใช้ดม
3.4.10 ยาประสมแล้ว ตำเป็นผงกวนให้ละเอียด ใส่กล้องเป่าทางนาสิกและในคอ เช่นยานัตถ์
3.4.11 ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้องเป่าบาดแผล
3.4.12 ยาประสมแล้ว ติดไฟใช้ควันใส่กล้อง เป่าบาดแผล และฐานฝี
3.4.13 ยาประสมแล้ว มวนเป็นบุหรี่สูบเอาควัน เช่นบุหรี่
3.4.14 ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอมและบ้วนปาก
3.4.15 ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ
3.4.16 ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่
3.4.17 ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ
3.4.18 ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรม
3.4.19 ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาสุม
3.4.20 ยาประสมแล้วทา
3.4.21 ยาประสมแล้วทำเป็นลูกประคบ
3.4.22 ยาประสมแล้วใช้หนีบ
3.4.23 ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน
3.4.24 ยาประสมแล้ว ทำเป็นยาพอก
3.4.25 ยาประสมแล้ว ทำเป็นขี้ผึ้งปิดแผล เรียกว่ายากวน
3.4.26 ยาประสมแล้ว บดเป็นผงอัดเม็ด
3.4.27 ยาประสมแล้ว บดเป็นผงบรรจุแคปซูล ให้มีคำว่า ยาแผนโบราณ
3.4.28 ยาประสมแล้ว บดเป็นผงปั้นเม็ด แล้วเคลือบน้ำตาล

อนึ่ง ยาต้องมีชื่อเพราะจะได้เป็นที่จดจำ ถ้าไม่มีชื่อไว้ ถึงคราวที่จะต้องการใช้จะสับสน ต้องการอย่างหนึ่ง จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นในคัมภีร์ ท่านจึงได้วางชื่อยาลงไว้เป็นชื่อต่างๆ ยาที่ทำแล้วต้องจดชื่อ และวิธีใช้แก้โรคอะไรให้ชัดเจน ชื่อยาย่อมมีต่างๆ เป็นต้นว่า ยาเขียวพรหมมาศ ยาหอมเนาวโกฐ ยาหอมอินทจักร์ เป็นต้น ชื่อไม้ ชื่ออวัยวะแห่งสัตว์ ชื่อแร่ ก็ว่าเป็นยา การนำมาประสมกันนั้น เพื่อจะได้ช่วยกัน ให้เป็นยามีฤทธิ์ พอแก่ที่จะบำบัดโรคได้ จึงต้องประสมกันตามส่วนมากและน้อย ถ้าจะใช้แต่สิ่งเดียว ฤทธิ์ยาไม่พอแก่โร ค โรคก็ไม่หาย บางอย่าง ก็กลายเป็นอาหารไป เช่น มะขามป้อมอย่างเดียวกินเข้าไปต้องเข้าใจว่าเป็นอาหาร เพราะฉะนั้น จึงต้องประสมกันตามที่ได้อธิบายมาแล้ว ได้ชื่อว่ารู้จักชื่อยาสำหรับแก้โรค



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น