วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556



รู้จักชื่อของโรค
หมอจะต้องรู้จักชื่อของโรคว่า คนไข้ที่มีอาการป่วยนั้น หมอทั้งหลายได้สมมุติชื่อไว้ว่า โรคนี้ๆ มีโรคหวัด โรคไอ โรคไข้ โรคลม เป็นต้น และชื่อของโรคต่างๆ อีกเอนกประการ ที่มีแจ้งอยู่ในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์ทั้งปวง ที่ท่านได้กำหนดบัญญัติ ตั้งแต่งชื่อของโรคไว้แล้ว ในความจริง ชื่อของโรคนี้ ก็คือ หมอผู้รักษาพยาบาลโรคนั้นเองให้ชื่อไว้ เพื่อที่จะให้กำหนดรู้กันได้ว่า อาการอย่างนั้นๆ เป็นชื่อโรคนี้ๆ เป็นชื่อโรคนั้นๆ ชื่อของโรคทั้งปวง จะมีชื่อได้ก็ด้วยสมมุตินั่นเอง
แต่ในคัมภีร์โรคนิทานนั้น ท่านมิได้กล่าวชื่อโรคเลยว่าชื่ออะไร ท่านกล่าวแต่ชื่อของธาตุว่า ธาตุนั้นชื่อนั้นพิการ หรือแตกไปแต่ละอย่างแต่ละ สิ่ง จึงมีอาการและประเภทต่างๆ ให้มนุษย์ได้ความป่วยเจ็บ เพราะฉะนั้น ความป่วยเจ็บนี่ใช่อื่นไกล คือ ธาตุทั้ง 4 ซึ่งได้จำแนกออกเป็น ธาตุดิน 20 ธาตุน้ำ 12 ธาตุลม 6 ธาตุไฟ 4 รวมเป็น 42 อย่าง ซึ่งได้จำแนกไว้ในสมุฎฐานแล้วนั้นเอง เมื่อพิการหรือแตกไป จึงทำให้มนุษย์มีความป่วยด้วยเหตุนี้
ถ้าจะเรียกชื่อของโรคให้ตรงกับความที่เป็นจริงแล้ว ก็ต้องเรียกชื่อของธาตุ 42 อย่าง นั้นมาเป็นชื่อของโรคว่า เป็นโรคเกศาพิการ โรคทันตาพิการ โรคเสมหะพิการ โรคโลหิตพิการ ดังนี้เพราะคำที่ว่า โรคนั้นก็คือ ธาตุพิการ ถ้าจะเรียกชื่อของโรคให้รวบรัดแล้ว ก็คงมีชื่อยู่เพียง 5 ชือ ตามฐานที่ตั้งของโรค ในเบญจอินทรีย์นี้ คือ จักขุโรโค โสคโรโค ฆานโรโค ชิวหาโรโค กายโรโค
2.1 จักขุโรโค คือโรคซึ่งเป็นขึ้นที่ตา สามัญชนสมมุติชื่อว่า เป็นตาแดง ตาแฉะ เป็น ตาริดสีดวง เป็นต้น
2.2 โสตโรโค คือโรคซึ่งเกิดขึ้นที่หู สามัญชนสมมุติชื่อว่า เป็นหูหนวก เป็นหูตึง เป็นฝีในหู เป็นต้น
2.3 ฆานโรโค คือโรคซึ่งเป็นขึ้นจมูก สามัญชนสมมุติชื่อว่า เป็นริดสีดวงจมูก เป็นต้น
2.4 ชิวหาโรโค คือโรคซึ่งเป็นขึ้นที่ลิ้น สามัญชนสมมุติชื่อว่า เป็นลิ้นแตก เป็นลิ้นเปื่อย เป็นต้น
2.5 กายโรโค คือโรคซึ่งเป็นขึ้นที่ตัวโรค แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
         2.5.1 พหิทธโรโค เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายนอกกาย สามัญชนสมมุติชื่อว่าเป็นเกลื้อน เป็นกลาก เป็นมะเร็ง เป็นคุดทะราด เป็นเรื้อน เป็นกุฎฐัง หรือเป็นแผลต่างๆ ที่ปรากฎออกมาภายนอก กาย
        2.5.2 อันตโรโค คือโรคเป็นขึ้นภายในกาย สามัญชนสมมุติว่า เป็นไข้ เป็นลม เป็นดาน เป็นเถา เป็นจุกเสียด เป็นแน่นเฟ้อ เป็นบิด เป็นป่วง ฝีในท้อง รวมที่ตั้งของโรค 5 ฐานดังนี้ เพราะโรคทั้งปวงตั้งขึ้นได้ก็ต้องอาศัยในเบญจอินทรีย์ ทั้ง 5 เป็นที่ตั้งขึ้นได้ จึงมีนามสมมุติเมื่อภายหลัง หมอจึงเรียกชื่อของโรคนั้นตามความที่สมมุติกันมา จึงได้จัดว่า นามโรค คือ ชื่อของความไข้เจ็บทั้งปวง
เพราะเป็นชื่อสมมุติ ชื่อของโรคทั้งปวงนั้น จะถือเอาชื่อที่เรียกกันคำเดียว เป็นแน่นักไม่ได้ จะเรียกชื่อต่างๆ กันบ้าง แล้วแต่หมู่บ้าน และประเทศ เช่น โรคมีอาการเช่นเดียวกัน แต่ชาวเหนือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งชาวใต้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่ง ในคัมภีร์เรียกชื่ออย่างหนึ่ง แต่เป็น โรคอย่าง เดียวกัน นั่นเอง ข้อนี้ไม่ต้องคิดแก้ไขอะไร ในเรื่องชื่อโรค เป็นหน้าที่ ของหมอที่จะสำเหนียก เรียกอนุโลมตามสมมุติได้ในเวลา ที่รักษาใช้ในหมู่ชนนั้นๆ
อนึ่ง ขอแนะนำ ให้ผู้ที่จะศึกษาวิชาหมอ ให้ฟังกำหนดรู้ลักษณะและอาการต่างๆ ในประเภท ไข้พิษ ไข้เหนือไข้กาฬทั้งปวง ที่ เรียก กันมาแต่โบราณว่า ไข้ตักศิลา บัดนี้เรียกว่า กาฬโรค ให้หมอพึงได้พิจารณาดู และกำหนดไว้ให้แม่นยำ เพราะไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ เหล่านี้ เป็นไข้อันสำคัญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น